ความรู้เรื่อง โรคไข้หวัดใหญ่
วันจันทร์, 11 พฤษภาคม 2563 14:17
โรคไข้หวัดใหญ่ (INFLUENZA)
โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ มีการระบาดเป็นครั้งคราวเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โรคนี้มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า
สาเหตุ – เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งอยู่ในน้ำมูกและเสมหะของผู้ป่วย ระยะฟักตัว ประมาณ 1-3 วัน
การติดต่อ – การติดต่อเกิดขึ้นได้ง่าย ระหว่างผู้ใกล้ชิดที่อยู่ในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก รถโดยสาร และอาคารบ้านเรือนที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยตรงจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสในฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่ฟุ้งกระจายใน อากาศจากการไอ จามรดกัน เข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุจมูกและปาก หรือติดต่อทางอ้อมโดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับ มือ ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ฯลฯ ที่ปนเปื้อน น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยแล้วสัมผัสถูกตาหรือจมูก ไข้หวัดใหญ่ สามารถแพร่เชื้อจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งได้มากช่วง 3 – 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ
อาการ – หลังจากได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 – 3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูงเฉียบพลัน (โดยทั่วไปประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก ไอแห้ง ๆ คอแห้ง เจ็บคอ อาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หรือมีเสมหะมาก และตาแดง ตาแฉะตามมา โดยทั่วไปผู้ป่วย เด็กมักมีไข้สูงกว่าผู้ใหญ่ อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียนและอุจาระร่วงได้ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมีอาการ รุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดาโดยทั่วไป มักมีอาการดีขึ้นภายใน 5 วันหลังป่วย และหายเป็นปกติ ภายใน 7 – 10 วัน
โรคแทรกซ้อน – ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ อาจเกิด ภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ได้มากกว่าคนอื่น ๆ และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษา – ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น การให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ทันทีหลังจากที่มีอาการช่วยลดความรุนแรงและอัตราตายในผู้ป่วย ยาต้านไวรัส ไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และซานามิเวียร์ (Zanamivir) การพิจารณาเลือกใช้ตัวไหน ขึ้นอยู่กับข้อมูลความไวของยาต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในแต่ละประเทศ
ข้อบ่งชี้ของการใช้ยาต้านไวรัส
- ผู้ป่วยที่ยืนยันหรือสงสัยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงที่ยืนยันหรือสงสัยไข้หวัดใหญ่
- อาจพิจารณาให้ยาในผู้ป่วยที่ยืนยันหรือสงสัยไข้หวัดใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงป่วย รุนแรง ถ้าสามารถให้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ ยาโอเซลทามิเวียร์สามารถพิจารณาใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีได้ถ้ามีข้อบ่งชี้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสอาจมี การดื้อยาได้ตลอดเวลา ดังนั้นในแต่ละแห่งควรมีข้อมูลความไวของยาและการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านไวรัส
การป้องกันโรค
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการออกกำลังกาย สม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงความเครียด บุหรี่ สุราและยาเสพติด และระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวเย็น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินเพียงพอ
- ระมัดระวังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และช่วงอากาศเย็น ซึ่งมักมีการ แพร่กระจายโรคได้มากขึ้น โดย
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดมาก และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ไม่ใช้แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะสิ่งของผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ แต่ช่วยป้องกันการแพร่และการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี
- ปัจจุบันยังไม่แนะนำการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประชาชนทั่วไป แต่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคปอด โรคหัวใจเรื้อรังที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ หรือจะไปอยู่ในประเทศเขตหนาวเป็นเวลานาน อาจปรึกษาแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า
- ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ควรระมัดระวังไม่แพร่เชื้อโดยระวังการไอหรือจามรดผู้อื่น และใช้ผ้าปิดปากทุก ครั้งเมื่อไอหรือจาม หรือหากทำได้ควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่คลุกคลีกับผู้อื่น
กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการฉีดวัคซีน
- บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่กำลังให้เคมี บำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ)
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
คำแนะนำ ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
สถานศึกษาเป็นแหล่งชุมชนกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นแหล่งของการแพร่กระจายเชื้อโรค ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นสำนักอนามัยขอให้คำแนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา ดังนี้
- ควรจัดให้มีระบบการคัดกรองเด็กป่วย วิธีการที่ใช้ในการคัดกรองเด็กขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละวัย ลักษณะของโรงเรียน และการจัดกิจกรรมในช่วงเช้าของโรงเรียน โดยการคัดกรองจะพิจารณาทั้งอาการไข้ ไอมีน้ำมูก หากพบว่าเด็ก มีอาการเข้าได้กับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้โรงเรียนทำการคัดแยกเด็ก ใส่หน้ากากอนามัยให้กับเด็ก ให้นักเรียนที่ป่วยพักในสถานที่จัดเตรียมไว้ และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพักฟื้นที่บ้าน อนึ่ง โรงเรียนควรให้ คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านกับเด็กนักเรียน และผู้ปกครองด้วย
- หากพบว่ามีนักเรียน หรือนิสิต นักศึกษาป่วย ควรพิจารณาปิด/เปิดสถานศึกษาเพื่อการชะลอการระบาด ของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้ดุลยพินิจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะกรรมการสถานศึกษารวมทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มี ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นต้น หยุดเรียนและพักผ่อนที่บ้านหรือหอพัก (หากเป็นไปได้ ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกห้อง)
- โรงเรียนควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียน ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้าใจความจำเป็น ที่จะต้องให้นักเรียนที่ป่วยหยุดเรียน
วิธีการจัดการภายในโรงเรียน
- โรงเรียนควรจัดเตรียมจุดล้างมือให้พร้อม (น้ำพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์) โดยเฉพาะ ในห้องน้ำและโรงอาหาร พร้อมทั้งอธิบายวิธีการล้างมือให้แก่นักเรียน และกระตุ้นให้นักเรียนล้างมือฟอกสบู่เหลว เป็นประจำหลังสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
- ให้มีการเรียนการสอนบริเวณที่เปิดกว้าง ลมธรรมชาติสามารถผ่านได้สะดวก ไม่แนะนำให้อยู่ ในห้องปรับอากาศ
- มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัส เช่น ราวบันได เครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ จุดตู้น้ำดื่ม เป็นประจำ และให้ทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปถี่ขึ้น ในช่วง ก่อนเข้าเรียน พักกลางวัน และช่วงเลิกเรียน
- มีการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ ณ ห้องพยาบาล เพื่อให้สามารถหยิบใส่ให้กับนักเรียน ที่มีอาการไข้ ไอ จาม ได้สะดวก และมีการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก ให้ใส่หน้ากากอนามัย และแจ้งกับครูเพื่อให้ครูติดต่อให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน
- โรงเรียนควรจัดทำคำแนะนำและโปสเตอร์ เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองได้เห็นและเข้าใจ เจตนารมณ์ และนโยบายของสถานศึกษาในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไข้หวัดใหญ่
- โรงเรียนควรส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
- ให้นักเรียนพกแก้วน้ำและช้อนรับประทานอาหารเป็นของตนเอง หากต้องรับประทานอาหาร ร่วมกันให้ใช้ช้อนกลาง สำหรับจุดบริการน้ำดื่มสาธารณะ ควรใช้แก้วน้ำชนิดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- หากโรงเรียนมีรถโรงเรียน ควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ในรถ เพื่อให้นักเรียนที่มีอาการไอ จาม หรือเป็นหวัด สวมใส่เวลานั่งในรถโรงเรียน และควรมีการทำความสะอาดภายในรถโรงเรียนเป็นประจำ มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเป็นประจำสม่ำเสมอในเรื่องการดูแลและการป้องกันตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง และแนะนำให้นักเรียนล้างมือก่อนกลับบ้าน
- ประสานกับหัวหน้ากลุ่มงานในพื้นที่ในสังกัดองค์กรที่มีสถานศึกษา ในการเฝ้าระวังการ ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับสถานศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนกลาง
- จัดให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมสัมมนาการศึกษาและสร้างวิทยากร เพื่อให้ ความรู้แก่บุคลากรและนักเรียน นิสิตนักศึกษาในสถานศึกษา เปิดศูนย์ข้อมูลข่าวสารและให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่
วิธีการกำจัดหน้ากากอนามัยใช้แล้ว
- คำแนะนำในการกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปาก ปิดจมูกส้าหรับ นักเรียน ประชาชน หรือบุคคลทั่วไป (เฉพาะรายบุคคล) การกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปาก ปิดจมูกที่ใช้แล้ว ควรกำจัดโดยการนำหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปาก ปิดจมูกที่ใช้แล้ว ใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นแล้วทิ้งในถังขยะทั่วไป
- คำแนะนำในการกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูกสำหรับ สถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากควรมีการแยกถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยหรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูก โดยเฉพาะโดยลักษณะของถังขยะควรมีถุงพลาสติกรองรับด้านในอีก 1 ชั้น และมีสติ๊กเกอร์ หรือข้อความระบุเป็น “ถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย หรือผ้าปิดปาก ปิดจมูกที่ใช้แล้ว” ติดไว้ที่ถังขยะให้ชัดเจน
- มาตรการในการกำจัดหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปากปิดจมูกสำหรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีหน้ากากอนามัยหรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูกที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาล ให้ใช้วิธีกำจัดเช่นเดียวการกำจัดขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล โดยใช้ถุงพลาสติกสีแดงที่กันรั่ว ต้องติดเครื่องหมาย สัญลักษณ์ชีวสากลพร้อมทั้งติดฉลากให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ ต้องเก็บรวบรวมไว้ในพื้นที่เฉพาะกำจัดในเตาเผา เป็นต้น กรณีหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูกที่ใช้แล้วจากสถานศึกษา/ชุมชนให้มีการ แยกขยะโดยแยกใส่ถุงพลาสติกหรือแยกถังขยะมีป้ายหรือข้อความบอกชัดเจนว่าเป็นถัง/ถุงขยะหน้ากากอนามัย หรือผ้า หรือกระดาษทิชชู ปิดปากปิดจมูกที่ใช้แล้วมัดปากถุงให้แน่นแยกเก็บรวบรวมไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับขยะอื่น
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก เจ็บคอ ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการจะทุเลาลง ตามลำดับ คือ ไข้ลดลง ไอน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น และหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน ยกเว้น บางรายอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดปอดบวม มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก และเสียชีวิตได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง (เช่น ไข้ไม่สูงมาก ตัวไม่ร้อนจัด ไม่ซึม และพอรับประทานอาหารได้) สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ผู้ป่วยผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วย ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ผู้ป่วยควรหยุดเรียน และพักอยู่กับบ้านหรือหอพัก เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันหลังวันเริ่มป่วย เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ และกลับเข้าเรียนได้เมื่อหายป่วยแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- แจ้งทางโรงเรียนทราบเพื่อจะได้ร่วมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา และป้องกันควบคุมโรค ได้อย่างทันท่วงที
- ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำ ของเภสัชกรหรือสถานบริการทางการแพทย์ หรือคำสั่งของแพทย์
- ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง
- เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา (ไม่ควรใช้น้ำเย็น)
- งดดื่มน้ำเย็นจัด
- ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มากๆ
- พยายามรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้เพียงพอ
- นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
- ป้องกันการแพร่ กระจายเชื้อให้ผู้อื่นด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือ จาม ด้วยกระดาษทิชชู หรือแขนเสื้อของตนเอง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ หลีกเลี่ยง การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ร่วมบ้านหรือร่วมห้อง (หากเป็นไปได้ ควรให้ผู้ป่วยนอนแยกห้อง) รับประทานอาหาร แยกจากผู้อื่น หรือใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำหลอดดูดน้ำร่วมกับผู้อื่น
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานที่ยังไม่ป่วย
- ควรติดตามสถานการณ์ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และคำแนะนำต่างๆ จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถานศึกษา เป็นระยะ
- แนะนำพฤติกรรมอนามัยให้แก่บุตรหลาน เช่น รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโดยการล้างมือด้วยน้ำ และสบู่บ่อยๆ การใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน การรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
- แนะนำให้เด็กหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
- หากบุตรหลานของท่านมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามร่างกาย ให้ใช้กระดาษทิชชู ปิดปากและจมูก และทิ้งลงถังขยะ และขอให้แจ้งทางโรงเรียนทราบ เพื่อจะได้ร่วม เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษาและป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที
- ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้เป็นปกติเท่าที่จะเป็นไปได้ถึงแม้ว่าจะมีการปิดสถานศึกษา หรือมีการระบาดของโรค
- หมั่นพูดคุยกับบุตรหลานให้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ และตอบคำถามที่เด็กสงสัยเท่าที่เด็ก ในแต่ละวัยจะเข้าใจได้
- หากเด็กมีความรู้สึกกลัวหรือกังวล ควรแนะนำให้ระบายความรู้สึกของตนเองออกมา และตอบคำถาม รวมทั้งปลอบโยนให้คลายกังวล
- เด็กมักจะต้องการความรู้สึกปลอดภัยและความรัก หากบุตรหลานของท่านมีความกังวล ท่านควรให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ
- ดูแลมิให้บุตรหลานของท่านหมกมุ่นกับข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่มากเกินไป จนเกิดความกลัวหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ
จึงประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบ
โดย...จ่าสิบเอกหญิงพเยาว์ ศรีจำปา หน.สำนักปลัด อบต.หนองบ่อ